สะพานเจริญศรัทธา 37
สะพานเจริญศรัทธา 37 | |
---|---|
เส้นทาง | ถนนรถไฟ |
ข้าม | คลองเจดีย์บูชา |
ที่ตั้ง | ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม |
ข้อมูลจำเพาะ | |
ความยาว | 17 วา 1 ศอก |
ความกว้าง | 4 วา 1 ศอก |
ที่ตั้ง | |
สะพานเจริญศรัทธา 37 หรือชาวนครปฐมรู้จักในชื่อ สะพานยักษ์ เป็นสะพานที่ตั้งอยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม สร้างข้ามคลองเจดีย์บูชาที่ถนนรถไฟ อยู่ระหว่างวัดพระปฐมเจดีย์กับสถานีรถไฟนครปฐม สะพานตั้งอยู่ทิศเหนือของพระปฐมเจดีย์ด้านวิหารโถงซึ่งประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์
ประวัติ
[แก้]พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นข้ามคลองเจดีย์บูชาเพื่อใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินจากสถานีรถไฟนครปฐมไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบสะพานคอนกรีตแบบใหม่[1] อย่างไรก็ดีจากข้อมูลรายงานการอนุรักษ์สะพานเจริญศรัทธา อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2548 ฉบับอัดสำเนา โดย สำนักศิลปากรที่ 2 จังหวัดสุพรรณบุรี รายงานว่า "สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณในทางการช่างการออกแบบจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2465 จึงทรงเปลี่ยนไปรับตำแหน่งกรรมการสภาการคลัง จึงอาจเป็นไปได้ว่าทรงมีส่วนในการให้คำปรึกษาในการออกแบบสะพานเจริญศรัทธา"[2]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาลจัดช่างผู้ชำนาญจากพระนครมาร่วมสร้าง จัดสร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นสะพานชุดสุดท้ายในหมู่สะพานชุดเจริญ เพียงสะพานเดียวที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในหัวเมืองจังหวัดนครปฐม พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสะพานเจริญศรัทธา เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2461
สถาปัตยกรรม
[แก้]สะพานเจริญศรัทธา 37 มีขนาดกว้าง 4 วา 1 ศอก ยาว 17 วา 1 ศอก มีพนัก 2 ข้าง มีซุ้มโคมไฟฟ้าอยู่บริเวณปลายสะพานทั้ง 2 ด้าน ข้างละ 2 ซุ้ม ในการก่อสร้างใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ประมาณ 49,537.55 บาท
สถาปัตยกรรมของสะพานเจริญศรัทธา มีการประยุกต์รูปแบบศิลปะทวารวดีมาใช้ในการตกแต่งสะพาน ตั้งแต่เสาสะพาน ซุ้มประดับ ยักษ์แบก และลวดลายพันธุ์พฤกษาต่าง ๆ ด้านหน้าคานทั้งสามชั้นประดับด้วยลายรูปยักษ์แบก ราวสะพานประดับด้วยดอกบัวและสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา และบริเวณยอดซุ้มประดับด้วยลายพระปรมาภิไธยประจำรัชกาลที่ 6[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กรมศิลปากร. "สะพานเจริญศรัทธา" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 5 ตุลาคม 2566. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
- ↑ "เจริญศรัทธา…สะพานแห่งศรัทธาของผู้เจริญ". ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก.
- ↑ "จังหวัดนครปฐม เปิดงานรวมญาติชาติพันธุ์ พื้นถิ่นทวารวดี 100 ปี สะพานเจริญศรัทธา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชาติพันธุ์ต่างๆ และประวัติศาสตร์เมืองนครปฐม". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-05. สืบค้นเมื่อ 2023-10-05.